ความจริง คือ แสงสว่างสู่ทางออกของปัญหา

Tuesday, December 15, 2015

5 คำถาม - ตอบ กับสาวตรี สุขศรี: คลิกไลค์ผิดกฎหมายด้วยหรือ?

5 คำถาม - ตอบ กับสาวตรี สุขศรี: คลิกไลค์ผิดกฎหมายด้วยหรือ?

เครดิต:

http://prachatai.org/journal/2015/12/62966

เริ่มมีคนถามคำถามเดียวแบบที่นักกฎหมายหลายคนโดนซ้ำๆฮะ ว่าตกลงกด like ผิดอะไร ล่าสุดมีนายตำรวจใหญ่ออกมาเพ้อ บัญญัติศัพท์ใหม่อีกว่าเป็น "ความผิดซ้ำ" ก็ชักไปกันใหญ่ เลยลองใช้โมเดลแก้วสรร คือ"ถามเอง-ตอบเอง" ให้ชัดๆ เรื่องนี้ สัก 5 ข้อไล่เรียงเป็นลำดับไป ดังนี้


1) กด like นี้ โดยตัวการกระทำเองผิดข้อหาอะไร หรือฐานอะไรในทางกฎหมายอาญาหรือไม่?

คำตอบคือ ไม่ผิด ...หลักกฎหมายอาญาที่ใหญ่ที่สุดคือ "ไม่มีความผิด ไม่มีโทษ โดยไม่มีกฎหมาย" ดังนั้น หากไม่มีกฎหมายบัญญัติว่า "ผู้ใดแสดงความชื่นชอบ หรือเห็นด้วยกับอะไรสักอย่าง เป็นความผิดต้องระวางโทษ..." สิ่งนี้ก็ผิดไม่ได้ .. ตำรวจ ทหาร ซึ่งไม่ใช่ "กฎหมาย" จะมโนไปเอง เพ้อเจ้อเอง กำหนดว่าอันนั้นอันนี้ผิดไม่ได้


2) คุณบอกว่า ก็นี่ไง ผิด 112, 116 หรือ 14 พรบ.คอมฯ ไม่ได้หรือไง?

คำตอบคือ ก็ไม่ได้ไง... และคนที่พูดแบบนี้ คือพวกอ่านกฎหมายไม่รู้เรื่อง ทั้งสามมาตรานั้นจะผิดได้มันมีเงื่อนไขและองค์ประกอบทางกฎหมายอยู่ เช่น 112 ก็ต้องมี action ของการดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาต หรืออย่างน้อยก็ "เผยแพร่ข้อความต่อไป" ส่วน 116 ก็ต้องมี action "การทำให้ปรากฏแกปชช...." และมาตรา 14 ก็ต้องมี action "การนำเข้าสู่ระบบ.." ซึ่งคนที่จะผิดได้ คนๆนั้นต้องทำเอง คำถามคือ คนกด like ได้ออก action อะไรตามที่ว่าไปไหม ? คำตอบคือ ไม่มี แต่คนที่โพสต์ต่างหากที่มี action


3) คุณบอกว่าผิดสิ เพราะพอกด like แล้ว Fb จะไปโชว์ที่หน้า feed เพื่อนคนกดด้วย ดังนั้นก็ผิดเพราะเผยแพร่ต่อ หรือทำให้ปรากฏ ไม่ได้เหรอ?

คำตอบคือ ไม่ได้อยู่ดี เพราะฟังชั่นแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นทุกครั้ง และไม่ใช่ทุกคนที่รู้ (และข้อนี้อย่ามามั่วตอบนักข่าวว่าอ้างไม่รู้กฎหมายไม่ได้ เพราะนี่มันคนละเรื่องกันเลย เนื่องจากมันเป็นแค่กฎหรือฟังชั่นของเฟสบุ๊ก เท่านั้น ไม่ใช่กฎหมาย)

ที่สำคัญต้องไม่ลืมว่า ความผิดอาญาจะเกิดขึ้นได้โดยหลักผู้กระทำต้องมี "เจตนา" ซึ่งหมายถึง 1) ผู้นั้นต้องรู้ว่าข้อความนั้นเป็นความผิด และ 2) ประสงค์จะเผยแพร่ต่อ... แน่นอนการกดแชร์อันนี้ชัดว่าอาจผิดได้ แต่การกดไลค์ ไม่ใช่ เพราะมันอาจเป็นแค่ชื่นชอบ เห็นด้วย ตอบสนองเพื่อนว่าฉันอ่านของแก กระทั่งคนจำนวนมากดชอบ "เพราะเธอ/เขาเป็นคนโพสต์" "ชอบที่เอามาโพสต์". โดยไม่ได้ชอบเนื้อหาที่โพสต์เลยด้วยซ้ำ ดังนั้นต่อให้ Fb มีเทคโนโลยีแบบนั้นมันก็ไม่ได้หมายความโดยอัตโนมัติว่าผู้กดไลค์มีความผิด


4) คุณแถว่า งั้นเป็น "ตัวการร่วม" ได้ไหม?

คำตอบคือ ยิ่งไม่ได้เลย เพราะหลักในเรื่องนี้ จะเป็นตัวการร่วมได้ต้องมีการ "ร่วมมือ ร่วมใจ" กับผู้โพสต์มาตั้งแต่ "ก่อนหรือขณะกระทำความผิด" เท่านั้น คนที่มากดไลค์หลังจากเค้าโพสต์ไปแล้ว ไปร่วมลงมือ ร่วมเจตนา หรือร่วมวางแผนอะไรกับใครตอนไหนล่ะ ?


5) คุณบอกว่างั้นเป็น "ผู้สนับสนุน" ก็แล้วกัน รับโทษเบาหน่อยแต่ก็ยังมีความผิด ได้ไหม?

แต่คำตอบคือ ก็ยังไม่ได้อยู่ดี เพราะหลักการเรื่องนี้ จะเป็นผู้สนันสนุนได้ต้องมี action "ช่วยเหลือหรืออำนวยความสะดวก" แก่ผู้กระทำผิด และต้องทำ "ก่อนหรือขณะความผิดเกิด" เท่านั้นด้วย การกดไลค์ไม่ได้ให้ผลเป็นการช่วยเหลือหรืออำนวยความสะดวกอะไรให้คนโพสต์นะ ทั้งยังเป็นการกดภายหลังความผิดสำเร็จไปแล้วอีกด้วย จึงผิดไม่ได้


คุณเชื่อไหมว่า ในทางกฎหมายอาญานั้น ขนาดคุณเห็นคนอื่นกำลังลงมือฆ่าใครสักคนต่อหน้าแล้วคุณนิ่งเฉย แถมแอบเห็นด้วยนิดๆ แต่ไม่ได้ออกแอ๊คชั่นอะไรเลย คุณยังไม่ผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการฆ่านั้นเลยนะ ! เต็มที่ก็คือผิดลหุโทษฐานละเว้นเท่านั้น ...ดังนั้น นับประสาอะไรกับการมากดไลค์ความผิดที่สำเร็จไปแล้ว

ด้วยเหตุผลทั้งหมดมวลจึงฟันธงให้ว่ากด like ไม่มีทางเป็นความผิดอะไรได้ และคนที่ให้ข่าวโครมๆ ตอนนี้ล้วนแล้วแต่มั่วข้อกฎหมาย(ปกติๆ)ทั้งสิ้น

No comments:

Post a Comment