ความจริง คือ แสงสว่างสู่ทางออกของปัญหา

Tuesday, August 23, 2016

ประเทศไทยจะซ่อนการกบฎไว้ใต้พรมได้จริงหรือ?

ประเทศไทยจะซ่อนการกบฎไว้ใต้พรมได้จริงหรือ?

NY Times ลงบทความ commentary วิพากษ์ปฏิกริยาของทหารต่อการก่อการร้ายในไทย อ่านแล้วน่าสนใจมาก

Matt Wheeler ผู้เขียนเริ่มต้นจากประเด็นเหตุระเบิดและเพลิงไหม้ในภาคใต้ช่วงหลังประชามติที่ผ่านมา ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐได้ออกมาปฏิเสธอย่างทันทีว่าไม่ใช่การก่อการร้าย และพลเอกประยุทธยังกล่าวเสริมด้วยว่าเป็นฝีมือของกลุ่มผู้เสียผลประโยชน์ทางการเมืองจากผลประชามติ

กลุ่มคนที่ถูกมองว่าเป็นศัตรูของรัฐบาล (opponents of the government) รวมถึงกลุ่มเสื้อแดงถูกจับกุม แม้ว่าการระเบิดครั้งนี้จะไม่ได้มีความคล้ายคลึงกับความรุนแรงครั้งก่อนๆ โดยฝ่ายที่นิยมทักษิณ รวมถึงว่าไม่ได้มีลักษณะเหมือนกับการระเบิดศาลพระพรหมเอราวัณเมื่อปี 2015 ด้วย 

ในทางกลับกัน การระเบิดครั้งนี้มีลักษณะเดียวกับเหตุระเบิดอื่นๆ โดยกลุ่ม BRN (กลุ่มก่อการร้ายในสามจังหวัดชายแดนใต้) โดยปกติแล้วกลุ่ม BRN ก็จะไม่ออกมาเคลมว่าเป็นผู้ลงมือ และการสืบสวนจากทางตำรวจก็ปรากฏว่าระเบิดที่ใช้เป็นแบบเดียวกับกลุ่มติดอาวุธในสามจังหวัดชายแดนใต้

ผู้เขียนกล่าวต่ออีกว่า เจ้าหน้าที่รัฐไทยมักจะใช้ขั้วตรงข้ามทางการเมืองภายในประเทศเป็นแพะรับบาปของการก่อการร้าย เช่นคดีเผาโรงเรียนสามจังหวัดในปี 1993 ถูกโยนให้ "กลุ่มอำนาจเก่า" และคดีระเบิดเกาะสมุยปี 2015 ก็ถูกอ้างว่าเป็นฝีมือของกลุ่มนักการเมืองที่สูญเสียอำนาจจากการรัฐประหาร แต่การกล่าวหาเหล่านั้นก็ไม่เคยมีหลักฐานที่จับต้องได้ และตำรวจก็เชื่อมโยงเหตุระเบิดกับสามจังหวัดชายแดนใต้ในที่สุด

คำถามที่น่าสนใจคือ ทำไมรัฐบาลทหารไทยถึงกระตือรือร้นกับการเบี่ยงความสนใจออกจากกลุ่มก่อการร้าย (และยัดเยียดความผิดให้ศัตรูทางการเมือง) ขนาดนั้น? Matt ตั้งข้อสังเกตว่าเจ้าหน้าที่รัฐกำลังปฏิเสธว่าไทยกำลังตกเป็นเป้าของการก่อการร้าย เนื่องจากต้องการรักษาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศ ที่ให้รายได้ทางอ้อมคิดเป็นราวๆ 20% ของ GDP ประเด็นที่สองคือ การนิยามให้เป็นเพียง "การก่อกวน" ก็เป็นการช่วยกลบเกลื่อนนัยยะทางการเมืองของเหตุการณ์เหล่านี้ หากยอมรับ "การก่อการร้าย" ก็เท่ากับว่าทหารไทยต้องยอมรับความล้มเหลวในการแก้ปัญหาของตนเองด้วย

นอกจากนี้ เสียงส่วนใหญ่ของทั้งสามจังหวัดยังโหวตไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุด สื่อถึงการต่อต้านกองทัพและการรวมศูนย์อำนาจ 

ในตอนท้าย ผู้เขียนยังได้กล่าวเพิ่มเติมถึงเหตุผลในการขยับขยายบริเวณการก่อเหตุของกลุ่มก่อการร้ายว่า การก่อการร้ายได้สามจังหวัดเพียงอย่างเดียวไม่ได้ให้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจอีกต่อไป นอกจากนี้ ผู้นำกลุ่ม BRN ยังได้ปฏิเสธกระบวนการเจรจาที่ไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลทหารด้วย พวกเขามองว่ากระบวนการเหล่านี้เป็นเพียงการพูดคุยที่ปราศจากสาระของการเจรจาต่อรอง นอกจากนี้ ผลประชามติยังบ่งบอกว่า ความหวังของการเจรจากับรัฐบาลกลางที่มาจากการเลือกตั้งก็ริบหรี่เต็มที เพราะรัฐบาลทหารจะยังคงกุมอำนาจไปอีกอย่างน้อยหกปี

จากที่กล่าวมาทั้งหมด การที่กลุ่มติดอาวุธก่อเหตุครั้งล่าสุดนี้อาจบ่งบอกว่า ความขัดแย้งได้ยกระดับเข้าสู่ระยะใหม่ ซึ่งอาจเพิ่มความขัดแย้งทางศาสนา และอาจเติมเชื้อไฟให้กลุ่มติดอาวุธชาวพุทธด้วย

อาจกล่าวได้ว่าเหล่านายพลผู้บริหารประเทศนั้น "สายตาสั้น" หากพวกเขายังคงปฏิเสธการมีอยู่ของการก่อการร้ายให้กลายเป็นเพียงความขัดแย้งทางการเมืองที่ไม่มีความเชื่อมโยงกับภาคใต้ ทางที่ดีที่สุดคือการตระหนักว่ามันเป็นปัญหาทางการเมือง ที่จำเป็นต้องมีการแก้ไขทางการเมืองด้วย ซึ่งหมายถึงการให้เสรีภาพในการแสดงออกแก่ประชาชน การเจรจากับกลุ่มติดอาวุธอย่างจริงใจ และหาทางกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น

ปล. เห็นว่าน่าสนใจดีเลยแปลเล่นๆ ถ้ามีตรงไหนผิดหรือตกหล่นรบกวนชี้แนะด้วยค่ะ :)

No comments:

Post a Comment