ความจริง คือ แสงสว่างสู่ทางออกของปัญหา

Wednesday, August 24, 2016

อ.ปิยบุตร แสงกนกกุล เขียนถึง อ.วรเจตน์ ในวันเกิดปีที่ 46 เมื่อวานนี้

อ.ปิยบุตร แสงกนกกุล เขียนถึง อ.วรเจตน์ ในวันเกิดปีที่ 46 เมื่อวานนี้

"ผมคิดว่า เรื่องดีๆที่ผมจะเขียนถึงใคร มันไม่ควรจะเขียนเฉพาะตอนคนคนนั้นตาย แล้วเราไปเขียนในงานศพ เราควรเขียนตอนที่เขามีชีวิตอยู่"

"ให้เขาได้รู้"

"ให้คนที่รักเขาได้รู้"

"ให้คนที่เกลียดเขาได้เข้าใจ"

Piyabutr Saengkanokkul

อาจารย์วรเจตน์มีโลกส่วนตัวสูงนะครับ ไม่เล่นเฟสบุค ไม่เล่นโซเชียล มีเดีย ไม่ค่อยพบปะผู้คน เท่าที่ผมรู้จักแกมาตั้งแต่ปี 2542 (ปีแรกที่แกจบเอกกลับมาสอน ผมนี่คุยได้ตลอดว่า ผมเรียนหนังสือกับแกรุ่นแรก) แกก็เป็นคนแบบนี้มาตลอด คือ ไม่นัดเจอใคร นัดกินข้าวกันก็เจอแต่พวกผม พอทำกิจกรรมรณรงค์ แกก็ไปเจออาจารย์ท่านอื่นๆบ้าง แต่ชีวิตแก ก็ยังแบบเดิม สอนหนังสือ นักศึกษาทำ วพ มาขอพบ ประชุมกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง กรรมการข้อมูลข่างสารราชการ รับเชิญบรรยายตามส่วนราชการ มีแค่นี้จริงๆ

แกไม่เคยต้องการดำรงตำแหน่งอะไรเลย

ผมใกล้ชิดกับแกมาสิบปีเศษ ทราบดีว่า มีตำแหน่งสารพัดที่ต้องการให้แกไปเป็น เอาเป็นว่ามากทั้งจำนวน ทั้งรายได้ บางตำแหน่ง เป็นตำแหน่งที่คนจำนวนมากอยากเป็นจนตัวสั่น แต่ก็ไม่ได้เป็น หรือดิ้นรนจนเป็นให้ได้ ทั้งหมดนี้ อาจารย์วรเจตน์ปฏิเสธหมด

แกพิสูจน์ชีวิตแกมานานมาก จนไม่มีใครตำหนิแกได้ว่าแกรับเงินทอง หวังยศตำแหน่ง เอาจริงๆ ถ้าแกต้องการ ป่านนี้ แกไปไกลกว่าเนติบริกรที่โด่งดังกันอยู่ในเวลานี้แน่

บางที ผมยังรู้สึกว่าสังคมไทยไม่ยุติธรรมกับแก คนแบบแก ไม่ได้อะไรสักอย่าง ผมไม่ได้หมายถึงลาภยศสรรเสริญตำแหน่ง แต่บางอย่างมันเป็นสิ่งที่แกควรได้ แต่จนวันนี้แกก็ยังไม่ได้ ผมคิดว่าทุกท่านคงรู้ว่าหมายถึงอะไร

ผมเคยคุยกับแกเล่นๆว่า ในแง่ครอบครัว พวกเราคงสอบตกหมด เพราะ พ่อแม่ พี่น้อง ครอบครัว ตอนที่เขารู้ว่าคนแบบพวกเราได้ไปเรียต่างประเทศโดยทุนการศึกษา พวกเขาคงหวังว่า คนแบบพวกเราจะช่วยยกระดับครอบครัวให้ดีขึั้น แต่จนวันนี้ ครอบครัวของพวกเรา ก็ยังคงลำบากแบบเดิม

ผมทราบมาว่า แม่ของแก น้องชายของแก ก็ยังคงทำสวน เผชิญกับภัยพิบัติธรรมชาติอยู่

แล้วลองกวาดตาไปมองพวกเนติบริกรสิครับ

ที่ผมว่าแกพิสูจน์ชีวิตแกมาหลายสิบปี มาจากเรื่องใด

ตอนอาจารย์วรเจตน์กลับมาเมืองไทยใหม่ๆ แกวิจารณ์การทำงานของ กกต ศาลรัฐธรรมนูญ คดีซุกหุ้น จนกองเชียร์คุณทักษิณเกลียดแกไปตามๆกัน (ไม่ต้องบอกก็ได้ว่า เนติบริกรที่ไปรับใช้คุณทักษิณเวลานั้นก็ไม่ชอบแกด้วย)

ต่อมามีเรื่อง มาตรา ๗ มี "ตลก ภิวัตน์" คราวนี้ อีกข้างหนึ่งที่เคยวี้ดบึ้มๆๆ แก ก็หันมาด่าแกว่ารับเงินทักษิณ ในขณะที่คนที่เชียร์ทักษิณ ก็กลับมาเชียร์แก

เปลี่ยนรัฐบาลกี่ครั้ง จะมาจากขั้วใด แกก็ไม่รับตำแหน่งทั้งสิ้น

ผมเข้าใจดีว่า ฝ่าย "อำมาตย์" คงผิดหวังกับแกมาก ที่แกเป็นแบบนี้

แต่ผมยืนยันว่าแกไม่ได้เปลี่ยนไปหรอก แกเป็นแบบนี้มาตลอด มีแต่พวกท่านนี่แหละ ที่พยายาม recruit คนเก่งๆเชื่องๆเข้าไป พอมีคนที่เขาหนักแน่นมั่นคงในสติปัญญาและเหตุผล พวกท่านก็เลือกที่จะไม่ทำความเข้าใจโลกและสังคมไทยที่เปลี่ยนไป แต่ท่านกลับลงโทษคนที่ท่านคิดว่าดื้อด้านแทน

(จนวันนี้ ใครที่ไปสอบทุนสารพัด พวกเราต้องบอกว่า ห้ามบอกว่าอาจารย์วรเจตน์เป็นไอดอล ไม่งั้นสุ่มเสี่ยงที่จะไม่ได้)

หลังรัฐประหาร ๒๒ พค ๕๗

รัฐประหารเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

และสิ่งที่รัฐประหารทำกับแก ก็ยิ่งไม่ถูกต้องเข้าไปอีก

คนแบบแก ไม่มีมวลชน ไม่มีพรรคการเมือง ไม่มีใครหนุนหลัง แกว่าตามเหตุผล และหลักวิชาที่แกเรียนมา

จนวันนี้ คณะรัฐประหารก็ยังคง "จองจำ" แกไม่เลิก

ถ้าพวกท่านลองพินิจพิจารณาอย่างถถ้วนถี่ด้วยสติสัมปชัญญะของท่านเอง โดยไม่ต้องไปฟังพวกที่คอยรายงานมากนัก ท่านจะเห็นได้ว่า สิ่งที่อาจารย์วรเจตน์นำเสนอ เป็นทางออกที่สวยงามที่พอจะรับกันได้สำหรับทุกฝ่าย

การจองจำ ทำลาย อาจารย์วรเจตน์ไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้อง มันสมองของแกยังมีคุณูปการต่อชาติบ้านเมืองอีกมาก

ผมไม่เคยคิดเลยว่าแกจะเป็น "เป้า" ที่สำคัญของคณะรัฐประหารขนาดนั้น บางทีผมก็อาจไร้เดียงสาไปบ้าง พวกเรา ก็ด้วยความหวังดีต่อชาติบ้านเมือง เราก็อยากเสนอรูปแบบการปกครองที่ทุกฝ่ายจะอยู่อาศัยด้วยกันได้ในอนาคต ก็ไม่นึกว่าผลที่ตามมามันจะขนาดนี้

การกักขังจองจำความคิด ไม่มีทางทำให้คนเปลี่ยนความคิด

อัยการในระบอบฟาสซิสต์ที่สั่งฟ้อง อันโตนิโอ กรัมชี่ แถลงว่า "เราต้องหยุดสมองก้อนนี้ที่ทำงานต่อเนื่องมา ๒๐ ปี"

แต่ "สมอง" ของกรัมชี่ ก็ไม่เคยหยุด เขาเขียน สมุดบันทึกจากคุก ความคิดของเขายังเป็น "หมุดหมาย" สำคัญที่ให้อนุชนรุ่นหลังศึกษา

ผมทราบดีว่า ถ้าอาจารย์วรเจตน์มาอ่านที่ผมเขียนนี้ แกคงตำหนิผม และถ้ามีการกระจายข่าวแชร์กันไป คนก็คง "หมั่นไส้" แกอีกมาก

แต่... ผมอดไม่ได้จริงๆ

ผมคิดว่า เรื่องดีๆที่ผมจะเขียนถึงใคร มันไม่ควรจะเขียนเฉพาะตอนคนคนนั้นตาย แล้วเราไปเขียนในงานศพ เราควรเขียนตอนที่เขามีชีวิตอยู่

ให้เขาได้รู้

ให้คนที่รักเขาได้รู้

ให้คนที่เกลียดเขาได้เข้าใจ

สุขสันต์วันเกิด อาจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์

ผู้เป็นอาจารย์ เป็นพี่ เป็นเพื่อนของผม

ขอให้อาจารย์หลุดพ้นจาก "วิบากกรรม" เสียที

(จบ)

No comments:

Post a Comment