ความจริง คือ แสงสว่างสู่ทางออกของปัญหา

Monday, June 20, 2016

บทเรียน จากใต้เงาเผด็จการทหารพม่า โดย อาสา หาข่าว

บทเรียน เมียนมา วิถี ชัตดาวน์'แช่แข็ง' ฝันร้าย แต่'อดีต"

การมาเยือนประเทศไทยของ นางออง ซาน ซูจีระหว่างวันที่ 23-25 มิถุนายน เป็นไปตาม "ปกติ" ในความสัมพันธ์อันดีระหว่าง 2 ประเทศ

เป็นการมาหลัง นายดอน ปรมัตถ์วินัย เดินทางไปเยือน ณ กรุงเนปิดอว์

เป็นการมาหลัง นายดอน ปรมัตถ์วินัย เชื้อเชิญให้ นายติน จ่อ นายกรัฐมนตรีคนใหม่แห่งเมียนมาเดินทางมาเป็นแขกของรัฐบาลไทย

เพียงแต่ในห้วงเวลานี้ นายติน จ่อ ยังไม่สะดวก

จึงได้มอบหมายให้ นางออง ซาน ซูจี มาในฐานะแห่ง "มุขมนตรีรัฐ" และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ แบกรับแทน

เป้าหมายใหญ่ๆ มี 2 ประการ

1 คือการร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน 1 บันทึกข้อตกลงว่าด้วยการจ้างแรงงาน

จากนั้น ก็จะไปพบกับแรงงานเมียนมาที่จังหวัดสมุทรสาคร

ข้อน่ายินดีเป็นอย่างยิ่งก็คือ นางออง ซาน ซูจี ยังมีกำหนดการเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่วังสระปทุม

ก่อนเดินทางไปศูนย์พักพิงชั่วคราวบ้านถ้ำหิน จังหวัดราชบุรี

การเดินทางไปเยือนมิตรประเทศในกลุ่มอาเซียนไม่เพียงแต่จะเป็น "ประเพณี" หากแต่ยังเป็น "ภาระหน้าที่" ที่รัฐบาลใหม่ในกลุ่มอาเซียน จักต้องปฏิบัติ

เหมือนที่ไปเยือนลาวเมื่อเดือนเมษายน

เหตุผลที่เลือกลาวเป็นประเทศแรก เพราะลาวอยู่ในสถานะอันเป็น "ประธาน" ภายในภาคีแห่งกลุ่มอาเซียน



จากนั้น ไทยก็เป็นประเทศที่ 2

อาจเพราะความสัมพันธ์ระหว่างเมียนมากับไทยมี "แรงงาน" เป็นสะพานเชื่อมเรื่องแรงงานจึงได้รับการชูขึ้นสูงเด่น

ขณะเดียวกัน เนื่องจากนับแต่ JUNTA ได้มีการเผด็จอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ โดยเฉพาะภายหลังการเลือกตั้งอันมากด้วยปัญหาในเดือนสิงหาคม 2531 เป็นต้นมา ได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งเป็นอย่างสูง

ไม่เพียงแต่ชาวเมียนมาเท่านั้นจะลี้ภัยออกนอกประเทศ หากแต่ชนเผ่าน้อยจำนวนมากก็ได้รับแรงสะเทือนจากการกดขี่ ปราบปราม

"ศูนย์พักพิงชั่วคราว" บริเวณชายแดนจึงปรากฏขึ้นจำนวนมาก

เมื่อพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลพลเรือนขึ้นเป็นรัฐบาลแรกในรอบ 50 ปี

ภาระหน้าที่สำคัญก็คือ การเยียวยา บาดแผลจาก "อดีต"

ไม่ว่าในเรื่อง "แรงงาน" โดยเฉพาะที่รวมกันอยู่ ณ จังหวัดสมุทรสาคร ไม่ว่าในเรื่อง "ผู้ลี้ภัย" โดยเฉพาะชนเผ่ากะเหรี่ยงจำนวนเกือบ 10,000 คน

ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นเรื่องที่รัฐบาล NLD จักต้องชำระ สะสาง

ขณะเดียวกัน จากการแถลงของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีซึ่งกำกับงานด้านเศรษฐกิจ ยอมรับว่าจะมีการเจรจาในเรื่องอันเกี่ยวกับความร่วมมือโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตเศรษฐกิจทวาย

เพราะนี่คือ ผลประโยชน์ "ร่วม" อันทรงความหมาย

ไม่เพียงแต่รัฐบาลไทยเท่านั้นที่ต้องการเห็นความคืบหน้า หากกลุ่มอาเซียนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น สิงคโปร์ เวียดนาม เป็นต้น ล้วนอยากเห็นพัฒนาการ

ยิ่งจีน ยิ่งญี่ปุ่น ยิ่งทอดตามองด้วยใจอันจดจ่อ

ความปรารถนาโดยพื้นฐานมิได้เป็นการเรียกร้องอะไร เพียงแต่ต้องการให้รัฐบาล นายติน จ่อ สานต่อจากที่รัฐบาล นายเต็ง เส่ง ริเริ่มไว้ก็ยอดเยี่ยมอย่างยิ่งแล้ว

นี่คือเป้าหมายทาง "เศรษฐกิจ" อันสัมพันธ์กับ "การเมือง"

โลกยุคใหม่ โลกแห่งศตวรรษที่ 21 จึงเป็นโลกอันสะท้อนความเป็น "หมู่บ้าน" ใหญ่ ที่ดำรงอยู่อย่างมีการยึดโยงระหว่างกัน

การ "ปิดประเทศ" ของ JUNTA ในอดีตจึงเป็น "ฝันร้าย" การ "เปิดกว้าง" และเชื่อมสายสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านและนานาชาติจึงเป็นความจำเป็นและต้องรักษาไว้อย่างเหนียวแน่น มั่นคง

บทเรียนการ "แช่แข็ง" ในยุคแห่ง JUNTA จึงไม่มีใครอยากหวนกลับไป
         อาสาหาข่าว
         ...20/6/59

No comments:

Post a Comment