ความจริง คือ แสงสว่างสู่ทางออกของปัญหา

Wednesday, March 2, 2016

ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ทำหนังสือถึง ทรราช คสช. ไม่เอาเขื่อนแม่วงก์


'ศศิน' ทำหนังสือถึง 'ประยุทธ์' ค้านเขื่อนแม่วงก์ เสนอทางเลือกจัดการน้ำ ถูกกว่า 6 เท่า

Wed, 2016-03-02 11:22


เมื่อวันที่ 1 มี.ค. ที่ผ่านมา สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม Greennews รายงานว่า นายศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 1 มี.ค.59 เพื่อขอให้พิจารณาทางเลือกในการจัดการน้ำแบบบูรณาการ กรณีไม่ต้องสร้างเขื่อนในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ พร้อมแนบเอกสารและแผนที่ทางเลือกในการจัดการน้ำ เพื่อใช้เป็นแนวทางการจัดการน้ำที่มีปัญหาเรื้อรัง มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่อชุมชน ในการเป็นโมเดลของประเทศต่อไป

สำหรับเนื้อหาในหนังสือ ระบุว่า จากกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ จ.อุทัยธานี เมื่อวันที่ 26 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยได้มอบนโยบายและข้อสั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ศึกษาทางเลือกการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำแม่วงก์เพื่อลดผลกระทบในด้านต่างๆ ทางมูลนิธิฯ ขอนำเสนอทางเลือกในการจัดการน้ำแบบบูรณาการ กรณีไม่ต้องสร้างเขื่อนในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวสามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งในรูปแบบอื่นได้หากมีการบริหารจัดการที่เหมาะสม

"ทางเลือกดังกล่าวจะได้จำนวนปริมาณน้ำที่ใกล้เคียง กล่าวคือ กรณีสร้างเขื่อนแม่วงก์จะได้น้ำ 250 ล้าน ลบ.ม.โดยประมาณ ส่วนทางเลือกกรณีไม่ต้องสร้างเขื่อนจะได้น้ำ 200 ล้าน ลบ.ม.โดยประมาณ และงบประมาณในการจัดทำโครงการดังกล่าวอาจจะถูกกว่าการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ถึง 6 เท่าตัว ทั้งนี้มูลนิธิฯ ได้ประสานจัดส่งข้อมูลดังกล่าวไปยังปลัด กษ. และขอเข้าพบพร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อชี้แจงข้อมูลโดยละเอียด ประสานความร่วมมือในการให้ข้อมูลเพิ่มเติม อันเป็นประโยชน์สูงสุดในการบริหารจัดการน้ำโดยไม่ต้องสร้างเขื่อนในพื้นที่อนุรักษ์" หนังสือจากมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ระบุ

ทั้งนี้ ในส่วนของเอกสารทางเลือกในการจัดการน้ำดังกล่าว ถูกบรรจุอยู่ในวารสาร "สาส์นสืบ" ฉบับเดือน พ.ย. 2557 ซึ่งได้เสนอทางเลือกในการบริหารจัดการมากมาย อาทิ ซ่อมแซมฝายและประตูระบายน้ำที่ชำรุด เพิ่มเติมโครงการชลประทานที่เป็นฝายและประตูระบายน้ำขนาดเล็ก ส่งเสริมการเปลี่ยนพืชไร่เป็นเกษตรผสมผสาน ตลอดจนการขุดลอกลำน้ำบางสาย และสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก เป็นต้น พร้อมทั้งเสนอโมเดลการจัดการน้ำในระดับชุมชนอีกหลากหลาย



No comments:

Post a Comment